ผลสืบเนื่อง ของ แผนลับ 20 กรกฎาคม

สนามที่เบ็นท์เลอร์บล็อก ที่ซึ่งชเตาเฟินแบร์ค อ็อลบริชท์ และคนอื่นถูกประหารชีวิตอนุสรณ์ที่เบ็นท์เลอร์บล็อก เขียนว่า "บุคคลเหล่านี้ตายเพื่อเยอรมนีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1944 พลเอกอาวุโสลูทวิช เบ็ค, พลเอกทหารราบฟรีดริช อ็อลบริชท์, พันเอกเคลาส์ กราฟ เช็งค์ ฟ็อน ชเตาฟ์เฟินแบร์ค, พันเอกอัลเบร็ชท์ ริทเทอร์ แมทซ์ ฟ็อน เควียร์นไฮม์, ร้อยโทแวร์เนอร์ ฟ็อน เฮ็ฟเทิน"

อีกหลายสัปดาห์ถัดมา ด้วยความโกรธเกรี้ยวของฮิตเลอร์ ตำรวจเกสตาโพของฮิมเลอร์ล้อมจับแทบทุกคนที่มีส่วนกับแผนลับดังกล่าวแม้เพียงเล็กน้อย การค้นพบจดหมายและบันทึกประจำวันในบ้านและสำนักงานของผู้ที่ถูกจับกุมนั้นเปิดเผยแผนการตั้งแต่ ค.ศ. 1938, 1939 และ 1943 ซึ่งนำไปสู่การจับกุมตามมาอีกหลายรอบ รวมทั้งการจับกุมฟรันซ์ ฮัลแดร์ที่เสียชีวิตในค่ายกักกัน ภายใต้กฎหมายซิพเพนฮัฟท์ (ความรับผิดทางสายเลือด) ใหม่ ญาติทุกคนของผู้ก่อการคนสำคัญถูกจับกุมด้วยเช่นกัน

มีผู้ถูกจับกุมกว่า 7,000 คน[30] และราว 4,980 คนถูกประหารชีวิต[31] ใช่ว่าทุกคนที่ถูกจับกุมหรือประหารชีวิตเชื่อมโยงกับแผนลับนี้ เพราะเกสตาโพฉวยโอกาสดังกล่าวสะสางกับอีกหลายคนที่ต้องสงสัยว่าเข้าข้างฝ่ายต่อต้าน วิทยุอังกฤษยังออกชื่อผู้ต้องสงสัยที่เป็นไปได้ที่ไม่เกี่ยวข้องแต่ภายหลังก็ถูกจับกุม[32]

ผู้ก่อการพยายามหลบหนีหรือปฏิเสธความผิดเมื่อถูกจับกุมน้อยมาก ผู้รอดชีวิตจากการสอบปากคำจะถูกนำตัวมาพิจารณาคดีพอเป็นพิธีต่อหน้าศาลประชาชน (โฟล์กสเกริชท์ชอฟ) ศาลเถื่อนซึ่งตัดสินเข้าข้างฝ่ายอัยการเสมอ ประธานศาล โรลันด์ ไฟรซเลอร์ เป็นพวกคลั่งนาซี มีผู้เห็นว่าตะโกนอย่างเดือดดาลและหยาบคายต่อผู้ถูกกล่าวหาในการพิจารณา ซึ่งมีการถ่ายภาพยนตร์ด้วยเหตุผลด้านการโฆษณาชวนเชื่อ[33] นายทหารที่เกี่ยวข้องกับแผนลับถูก "ไต่สวน" ต่อหน้าศาลเกียรติยศทหาร ศาลทหารที่ตัดสินคดีด้วยการพิจารณาหลักฐานที่เกสตาโพตกแต่งมาให้ก่อนขับผู้ถูกกล่าวหาออกจากกองทัพว่าทำให้เสื่อมเสีย แล้วส่งตัวให้ศาลประชาชน

การพิจารณาครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 7 และ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1944 ฮิตเลอร์สั่งให้ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงถูก "แขวนคอเหมือนวัวควาย"[33] หลายคนชิงฆ่าตัวตายก่อนถึงการพิจารณาหรือการประหารชีวิตของตน รวมทั้งคลูเกอ ที่ถูกกล่าวหาว่ารู้เห็นกับแผนลับล่วงหน้าและไม่ได้เปิดเผยต่อฮิตเลอร์ ชตึลพ์นาเกิลพยายามฆ่าตัวตายเช่นกัน แต่รอดและถูกแขวนคอ

ขณะถูกทรมานนั้น เขาโพล่งชื่อร็อมเมิลออกมา อีกไม่กี่วันถัดมา ที่ปรึกษาส่วนตัวของชตึลพ์นาเกิล เซซาร์ ฟ็อน ฮอฟัคแคร์ ยอมรับหลังจากถูกทรมานอย่างน่าสยดสยองว่าร็อมเมิลเป็นสมาชิกปฏิบัติการของแผนคบคิดดังกล่าวด้วย ร็อมเมิลมีส่วนเกี่ยวข้องขนาดไหนนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่นักประวัติศาสตร์จำนวนมากสรุปว่า อย่างน้อยเขาก็ทราบแผนคบคิดดังกล่าวแม้ไม่ได้พัวพันโดยตรงก็ตาม อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ทราบว่าจะเป็นกรณีอื้อฉาวใหญ่หลวงแก่สาธารณะ หากร็อมเมิลถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ ติดดังนี้แล้ว เขาจึงให้ทางเลือกร็อมเมิลว่าจะฆ่าตัวตายด้วยไซยาไนต์เอง หรือเข้าสู่การบวนการไต่สวนพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยโดยศาลประชาชนของไฟรสแลร์ หากร็อมเมิลเลือกรับการไต่สวนพิจารณาคดี ครอบครัวของเขาจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงแม้ก่อนการพิพากษาลงโทษที่แน่นอน และพวกเขาจะถูกประหารชีวิตไปพร้อมกับเสนาธิการของเขาด้วย ร็อมเมิลทราบดีว่าการยอมถูกพิจารณาตัดสินคดีในศาลประชาชนมีค่าเท่ากับโทษประหาร เขาจึงทำอัตวินิบาตกรรมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1944 เขาถูกฝังอย่างสมเกียรติทหาร บทบาทของเขาในเรื่องนี้เปิดเผยหลังสงครามยุติ[14]

เทร็สโคก็ทำอัตวินิบาตกรรมหนึ่งวันหลังจากรัฐประหารที่ล้มเหลวโดยการใช้ระเบิดมือในดินแดนไม่มีเจ้าของระหว่างแนวรบรัสเซียกับเยอรมัน ก่อนตาย เทร็สโคว่าแก่ฟาเบียน ฟ็อน ชลาเบรนดอร์ฟดังนี้

โลกทั้งใบจะประณามเราในตอนนี้ แต่ผมยังเชื่อเต็มที่ว่าเราทำสิ่งที่ถูก ฮิตเลอร์เป็นศัตรูสำคัญไม่เฉพาะแต่กับเยอรมนีเท่านั้น แต่กับโลกทั้งใบด้วย ภายในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าเมื่อผมไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเพื่อทูลอธิบายต่อสิ่งใดที่ผมได้ทำลงไปแล้วและยังไม่ได้ทำนั้น ผมทราบว่าผมจะสามารถให้ความชอบธรรมได้ต่อสิ่งที่ผมทำไปในการต่อสู้กับฮิตเลอร์ พระเจ้าทรงให้สัญญาแก่อับราฮัมว่าพระองค์จะไม่ทรงทำลายนครโซดอม ถ้าหากยังสามารถหาผู้ชอบธรรมได้สิบคนในนครนั้น ฉะนั้นผมจึงหวังว่า เพื่อเห็นแก่พวกเรา พระเจ้าก็คงจะไม่ทรงทำลายเยอรมนี ไม่มีใครในหมู่พวกเราที่จะคร่ำครวญเกี่ยวกับการตายของตัวเองได้ ผู้ยินยอมเข้าร่วมวงกับพวกเรานั้นได้ยอมสวมเสื้อคลุมพิษแห่งเนสซุสไว้แล้ว บูรณภาพแห่งศีลธรรมของมนุษย์เริ่มขึ้นเมื่อเขาพร้อมสละชีวิตตนเองเพื่อสิ่งที่เขาเชื่อ[34]

และความล้มเหลวในการรายงานแผนลับดังกล่าวอย่างชัดเจน เขาถูกจับกุมในวันที่ 21 กรกฎาคม ภายหลังฟร็อมถูกศาลประชาชนพิพากาษาลงโทษและตัดสินประหารชีวิต แม้เขาเกี่ยวข้องกับการคบคิด แต่คำพิพากษาทางการของเขาระบุข้อกล่าวหาว่าเขาบกพร่องในหน้าที่ เขาถูกประหารชีวิตในบรันเดินบวร์คอันแดร์ฮาเฟิล ฮิตเลอร์เปลี่ยนโทษประหารชีวิตของเขาจากแขวนคอไปเป็นชุดยิง "ที่มีเกียรติกว่า" ด้วยตนเอง เออร์วิน พลังค์ บุตรชายนักฟิสิกส์ชื่อดัง มักซ์ พลังค์ ถูกประหารชีวิตจากการมีส่วนร่วมด้วย[35][36]

รายงานของคัลเทนบรุนเนอร์ต่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1944 ว่าด้วยเบื้องหลังของแผนคบคิดดังกล่าว ระบุว่า สมเด็จพระสันตปาปาเป็นผู้ก่อการในทางใดทางหนึ่งด้วย โดยเจาะจงชื่อยูจีนิโอ ปาเซลลี สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ว่ามีส่วนในแผนลับด้วย[37] หลักฐานชี้ว่า ผู้ก่อการ พันเอก เวสเซิล ฟ็อน ไฟรทาค-ลอริงโฮเฟน, พันเอก เออร์วิน ฟ็อน ลาโฮอูเซิน และ พลเรือเอก วิลเฮล์ม คานาริสเกี่ยวข้องกับการขัดขวางแผนลักพาตัวหรือลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระสันตปาปาปิอุสที่ 12 ของฮิตเลอร์ใน ค.ศ. 1943 เมื่อคานาริสรายงานข้อมูลแผนนี้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่อต้านข่าวกรองของอิตาลี พลเอกเซซาเร อาแมะ ซึ่งได้ส่งต่อข้อมูลดังกล่าว[38][39]

หลังวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 เมื่อไฟรส์แลร์ถูกฆ่าตายในการโจมตีทางอากาศของสหรัฐครั้งหนึ่ง ไม่มีการพิจารณาอย่างเป็นทางการเพิ่มอีก แต่จวบจนเดือนเมษายน ปีเดียวกัน ซึ่งอยู่ในช่วงปลายสงคราม มีการค้นพบบันทึกประจำวันของคานาริส และอีกหลายคนถูกซัดทอด การประหารชีวิตดำเนินต่อไปจนกระทั่งวันสุดท้ายของสงคราม

การพิจารณาและการประหารชีวิตตามรายงานนั้นได้ถูกถ่ายภาพยนตร์ไว้และถูกตรวจสอบโดยฮิตเลอร์และคณะผู้ติดตามของเขา ภาพยนตร์เหล่านี้ภายหลังถูกตัดต่อโดยเกิบเบิลส์เป็นภาพยนตร์ความยาว 30 นาที และถูกฉายให้แก่นักเรียนนายร้อยที่โรงเรียนนายร้อยลิคแตร์เฟลเดอ แต่เชื่อกันว่าผู้ชมเดินออกจากการฉายด้วยอาการขยะแขยง[40]

ฮิตเลอร์ถือเอาว่าการรอดชีวิตของเขานั้นเป็น "ช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ในประวัติศาสตร์" และมอบหมายให้มีการจัดทำเครื่องอิสรยาภรณ์ ผลก็คือ เหรียญผู้บาดเจ็บ 20 กรกฎาคม 1944 ซึ่งฮิตเลอร์มอบให้แก่ผู้ที่อยู่กับเขาในห้องประชุมในเวลานั้น เหรียญนี้ถูกจัดทำขึ้น 100 เหรียญ[41] และเชื่อกันว่ามีการมอบให้จำนวน 47 เหรียญ พร้อมด้วยเอกสารรางวัลอันหรูหราที่มอบให้แก่ผู้ได้รับเหรียญซึ่งลงนามส่วนตัวโดยฮิตเลอร์ ทำให้มันเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ที่มีการมอบน้อยที่สุดของนาซีเยอรมนี[42]

จากบทบาทในการยุติรัฐประหาร พันตรีเรแมร์ได้รับการเลื่อนยศเป็นพันเอกและเมื่อสงครามยุติ เขามียศเป็นพลตรี หลังสงคราม เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมไรช์และเป็นพวกนีโอนาซีคนสำคัญและสนับสนุนแนวคิดคัดค้านการล้างชาติโดยนาซีกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1997[43]

ฟิลิพพ์ ฟ็อน เบอเซลาแกร์ นายทหารเยอรมันผู้จัดหาระเบิดพลาสติกที่ใช้ในเหตุดังกล่าวนั้น สามารถหลบหนีการถูกตรวจพบและรอดชีวิตจากสงคราม เขาเป็นผู้ร่วมขบวนการผู้รอดชีวิตคนที่สองรองจากสุดท้าย และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 อายุได้ 90 ปี[44]

ผลของรัฐประหาร สมาชิกทุกคนของกองทัพบกถูกบังคับให้สาบานความจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์อีกครั้ง และเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 การแสดงความเคารพแบบทหารถูกแทนที่ด้วยการแสดงความเคารพต่อฮิตเลอร์ทั้งกองทัพซึ่งทำโดยยืดแขนออกและเปล่งคำพูดว่า "ไฮล์ ฮิตเลอร์"[45] แม้ว่าเหตุการณ์จะสงบลง แต่เวลาต่อมาในปี 1945 นาซีเยอรมันได้พ่ายแพ้สงครามและฮิตเลอร์ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมในฟือเรอร์บุงเคอร์ เวลาต่อมาในอีกหลายปีให้หลังได้การรำลึกต่อกลุ่มบุคคลผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผนลับ 20 กรกฎาคม ซึ่งได้แสดงให้เห็นต่อคนเยอรมันชนรุ่นหลังและชาวโลกว่า ชาวเยอรมันทุกคนไม่ได้เป็นอย่างฮิตเลอร์และพรรคนาซี และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ตายเพื่อเยอรมนี

แหล่งที่มา

WikiPedia: แผนลับ 20 กรกฎาคม http://www.atypon-link.com/OLD/doi/pdf/10.1524/VfZ... http://www.cbcpnews.com/?q=node/9249 http://books.google.com/?id=xoTWkzhf2uUC&pg=PA361&... http://histclo.com/essay/war/swc/force/wehr/res/wr... http://www.imdb.com/name/nm0102778/ http://www.imdb.com/title/tt0043461/ http://www.imdb.com/title/tt0047790/ http://www.imdb.com/title/tt0062038/ http://www.imdb.com/title/tt0100376/ http://www.imdb.com/title/tt0102778/